จะฝึกหมากล้อมอย่างไรให้เก่ง
สำหรับนักหมากล้อมที่อยากจะเล่นหมากล้อมให้เก่งอย่างรวดเร็ว ควรจะต้องรู้ก่อนว่า “ความเก่ง” ของคน ๆ หนึ่งที่จะขึ้นสู่ระดับดั้ง หรือ ดั้งสูง ๆ หรือ ไปสู่มืออาชีพนั้น จะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพื่อสามารถจะเพิ่มเติมในส่วนที่ตัวเองขาดหายไปและพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้
นักหมากล้อมฝีมือระดับสูงทุกคน จะต้องประกอบไปด้วย 4 อย่าง นั่นก็คือ
- ความรู้พื้นฐานของหมากล้อม - ความรู้พื้นฐานของหมากล้อมนี้ เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับหมากล้อมโดยตรง โดยผ่านการคิด วิเคราะห์จากนักหมากล้อมมาแล้ว รวบรวมและจัดหมวดหมู่ของความรู้ให้กลายเป็นแนวคิดและกระบวนวิชาต่าง ๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับการเปิดหมาก, ความรู้เกี่ยวกับการสู้กลางกระดาน, โจเซกิต่าง ๆ, ลักษณหมากต่าง ๆ, ประสิทธิภาพหมาก, หรือแม้แต่การปิดเกม เป็นต้น นักหมากล้อมสามารถคิดค้นความรู้ต่าง ๆ บนกระดานขึ้นมาได้เองจากการทดลองสุ่มไปมาและศึกษาจดจำ แต่ก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมากกว่า ผ่านรูปแบบหมากที่มืออาชีพได้คิดค้นออกมาเรียบร้อยแล้ว
- กำลังในการอ่านหมาก - กำลังในการอ่านหมากนี้ เป็นความสามารถในการมองอนาคตได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ได้มีใจลำเอียงให้เขาหรือเรา หรือแม้แต่มองการเปลี่ยนแปลงได้ออกทั้งหมดว่าจะมีการเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง มีทั้งหมดกี่แบบ กำลังในการอ่านหมากนี้จะจำแนกออกได้เป็นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหมากได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ลำดับหมากถูกต้อง ทั้งนี้ กำลังในการอ่านหมากนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการเล่นหมากล้อมให้เก่ง
- ความสามารถในการใช้ความรู้หมากล้อมขณะเดินหมาก - ในข้อนี้จะเป็นการประยุกต์ของ 1 และ ข้อ 2 เข้ามารวมกัน ความสามารถในการใช้ความรู้หมากล้อมนี้ อย่างแรกต้องเข้าใจความรู้นั้น ๆ อย่างถ่องแท้ก่อน แล้วจึงสามารถประยุกต์ไปตามสถานการณ์ได้ ไม่ใช่แบบที่คนไทยเรียกว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” แต่จะเป็น “รู้จนเป็น” มากกว่า และเมื่อประกอบกับความสามารถในการอ่านหมาก ก็ยิ่งสามารถเลือกหมากที่เหมาะสมกับตัวเองให้เหมาะกับสถานการณ์หมากในกระดานนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะเดินหมากแปลกประหลาดตอบโต้มาลักษณะแบบใด ก็สามารถเลือกใช้การตอบโต้อย่างเหมาะสม หรือว่า เลือกสูตรมุมที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ โดยไม่ได้ยึดติดกับความรู้ที่มี เช่น ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เดินตามสูตรมุมที่เรียนมา ก็ตอบโต้กลับไม่เป็น
- สภาวะจิตใจ - สภาวะจิตใจนี้ รวมถึง อารมณ์ ความรู้สึก ความมั่นใจ ทัศนะคติ ที่อาจจะเรียกได้ว่า EQ นั่นเอง ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก ที่ต่อให้มี 3 ข้อทางด้านบนครบถ้วนแล้ว แต่ถ้าสภาวะจิตใจไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดี การเดินหมากในกระดานหนึ่งนั้น ก็ย่อมสะท้อนผลของสภาวะจิตใจออกมาได้เช่นกัน เช่น พอเดินหมากหนึ่งเม็ดพลาด ก็มัวแต่โมโหตัวเอง แล้วก็คิดอยู่แต่เพียงว่าแพ้แน่ ๆ หรือตัวเองแย่มาก คุณภาพการเดินหมากหลังจากนั้นย่อมต้องแย่ลงอย่างแน่นอน หรืออีกตัวอย่าง เช่น ฝ่ายตรงข้ามพลั้งเผลอเดินหมากพลาดออกมาหรือเราสามารถจับกินหมากกลุ่มใหญ่ของอีกฝ่ายได้ ก็มัวแต่หลงระเริงกับความสำเร็จในการจับกินได้ และก็คิดว่ายังไงหมากกระดานนี้ก็ชนะอย่างแน่นอนอยู่แล้ว จนตอนหลังก็มัวแต่เดินสะเปะสะปะ แล้วก็พ่ายแพ้ อย่างที่คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เคยกล่าวไว้ว่า การเดินหมากล้อมให้ชนะในกระดานหนึ่ง ๆ ได้ ต้อง “ชนะ โดยไม่คิดเอาชนะ” เพราะเมื่อคิดเอาชนะแล้ว สภาวะจิตใจนั้นก็ก่อให้เกิดมุมมองในแง่ลบและส่งผ่านหมากที่เดินออกมา
ทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นสิ่งที่ส่งผลซึ่งกันและกัน นั่นหมายความว่า เมื่อกำลังในการอ่านหมากสูงขึ้น ก็ส่งผลทำให้สภาวะจิตใจและความรู้พื้นฐานของหมากล้อมสูงขึ้นเช่นกัน หรือการที่มีสภาวะจิตใจที่สูงขึ้น ก็ส่งทำให้กำลังในการอ่านหมากดีขึ้น และจะเข้าใจในความรู้พื้นฐานของหมากล้อมเพิ่มขึ้น หรือในทางกลับกัน การไม่มีความรู้พื้นฐานของหมากล้อม ก็ส่งผลทำให้กำลังในการอ่านหมากย่ำแย่ และสภาวะจิตใจย่ำแย่เช่นกัน แต่ทว่า การส่งผลนี้จะไม่สามารถส่งผลให้สูงขึ้นในด้านอื่น ๆ ได้มากนัก ถ้าเมื่อไรที่พัฒนาความสามารถไปเพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว ความสามารถหมากล้อมก็จะตันอยู่เพียงแค่ระดับนั้นเท่านั้น ไม่สามารถมีฝีมือที่ทะลุขึ้นไปได้อีกหนึ่งขึ้น
ที่นี้เราลองมาดูว่าการฝึกฝนหมากล้อมด้วยวิธีใด จะส่งผลอย่างไรบ้างกับการพัฒนาทั้ง 4 ด้านนี้ โดยตารางด้านล่างนี้ คะแนนเต็มในแต่ละช่องคือ 5 คะแนน นั่นคือความสามารถในด้านนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเวลาที่เสียไป ตารางนี้ประยุกต์ใช้กับนักหมากล้อมทุกระดับฝืมือไม่ว่าจะเป็นดั้ง หรือ คิว
|
ความรู้พื้นฐานของหมากล้อม |
กำลังในการอ่านหมาก |
ความสามารถในการใช้ความรู้หมากล้อมขณะเดินหมาก |
สภาวะจิตใจ |
การศึกษาด้วยตัวเอง |
1-2 |
1-2 |
0-1 |
0-1 |
การอ่านหนังสือหมากล้อมที่เป็นการอธิบาย |
3-4 |
1-2 |
0-1 |
1-2 |
เรียงเกมโปรโดยไม่ศึกษา |
3-4 |
0-1 |
0-1 |
2-3 |
การฟังคอมเม้นท์เกมโปร |
3-4* |
1-2 |
3-4* |
3-5* |
การเล่นบนกระดานกับเพื่อน |
0-1 (2) |
1-2 |
0-1 (2) |
1-2 |
การเล่นบนกระดานกับคนที่เก่งกว่า |
0-1 (4)* |
1-2 |
0-1 (4)* |
2-3 |
การเล่นบนอินเตอร์เน็ต |
0-1 (2) |
1-2 |
0-1 (2) |
1-2 |
เข้าร่วมการแข่งขัน |
0-1 (2) |
1-2 |
0-1 (3) |
3-4 |
การทำโจทย์ Life and Death |
1-2 |
4-5 |
0-1 |
0-1 |
การทำโจทย์เปิดเกม |
1-2 |
2-3 |
2-3 |
1-2 |
การทำโจทย์ลักษณะหมาก |
2-3 |
1-2 |
1-2 |
0-1 |
การทำโจทย์หมากเด็ด |
2-3 |
2-3 |
0-1 |
0-1 |
การทำโจทย์ในการปิดเกม |
2-3 |
2-3 |
1-2 |
2-3 |
การเรียนกับครูหมากล้อม |
3-5* |
1-2 |
3-5* |
3-5* |
( ) ตัวเลขที่อยู่ในวงเล็บ คือ เมื่อเล่นจบมีการ comment เกม และ * จะขึ้นอยู่กับความสามารถของครูที่สอนหรือคนบรรยายคอมเม้นท์
จากตารางข้างต้น เราลองมาดูแนวคิดต่าง ๆ ที่คนไทยใช้กันบ่อย ๆ ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร
กรณีที่ 1 “เล่นเยอะ ๆ แล้วเดี่ยวจะเก่งเอง” การเล่นเยอะ ๆ จะให้ความรู้พื้นฐานของหมากล้อมเพียงนิดเดียวเท่านั้น เพราะผู้เล่นไม่ได้คิดวิเคราะห์และศึกษาอย่างลึกซึ้งของหมากที่ตัวเองเดินได้ทุกเม็ด ส่วนมากจะเดินหมากเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จากสิ่งที่ตัวเองรู้อยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น กำลังในการอ่านหมากก็ไม่ทำให้สูงขึ้นซักเท่าไร และสภาวะจิตใจก็ให้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อเล่นยิ่งเยอะ การพัฒนาจะยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะสภาวะจิตใจที่ได้ก็จะสูงสุดอยู่เพียงจุดเดียวเท่านั้น
กรณีที่ 2 “ทำโจทย์ Life and Death เยอะ ๆ” การทำโจทย์ Life and Death เยอะ ๆ มีข้อดีเพียงอย่างเดียวก็คือ ทำให้กำลังในการอ่านหมากสูงขึ้นอย่างมาก แต่เรื่อง Life and Death เป็นเรื่องที่ในไปประยุกต์ใช้บนกระดานได้น้อยมาก หรือแทบนำไปใช้ไม่ได้เลย ถ้าการเดินนั้น ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นตายของหมาก ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ทำโจทย์ Life and Death มาก ๆ กลับทำให้สภาวะจิตใจถดถอย ในสิ่งที่ควรเป็นคือ ถ้าจะฝึกอย่างเข้มข้น ในหนึ่งวัน ฝึกทำโจทย์ Life and Death เพียง 1-2 ข้อและใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีก็เพียงพอแล้ว
กรณีที่ 3 “เล่นกับโปร หรือเล่นกับคนที่เก่งกว่า” ก็แทบไม่ส่งผลทำให้เราเก่งกว่าซักเท่าใดนัก เพราะเราก็ยังยึดติดกับความรู้เดิม ๆ ความเชื่อเดิม ๆ ในการเดินแต่ละหมาก ไม่ได้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง และเวลาเดินหมากเราก็คุยอยู่กับแต่ตัวเอง ยิ่งถ้าไม่ได้มีการคอมเม้นท์หลังจบการเดินหมากด้วย การเดินหมากกระดานหนึ่งกับคนที่เก่งกว่าก็ไม่ได้แตกต่างกับการเดินหมากกับคนที่ด้อยกว่าหรือคนที่ฝีมือพอ ๆ กับเรา ข้อดีเพียงอย่างเดียวก็คือ ทำให้เราเกิดความมั่นใจและมีสภาวะจิตใจที่ดีขึ้นเท่านั้น
กรณีที่ 4 “การศึกษาด้วยตัวเอง” อันนี้ยิ่งเป็นวิธีการที่เสียเวลามาก และยิ่งจะทำให้ท้อแท้ในการพัฒนามากขึ้น การหาหนังสือมาอ่านเองโดยไม่รู้ว่าหนังสือหมากล้อมเล่มนั้นเกี่ยวกับอะไร ท่องจำแต่โจเซกิเยอะแยะมากมาย หรือจดจำเกมโปรได้ทั้งเกม หรือเล่นกับคอมพิวเตอร์มาก ๆ ก็ไม่ทำให้เล่นหมากล้อมเก่งขึ้น แต่ด้วยวิธีนี้ อย่างน้อยก็ทำให้ได้คุ้นเคยกับหมากล้อมยิ่งขึ้นอีกนิด เพียงแต่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น ๆ ถ้าต้องการจะเก่งขึ้นหรือไม่
กรณีที่ 5 “การเรียงเกมส์โปร” สิ่งที่ได้คือ เราจะได้เห็นรูปแบบใหม่ ๆ ที่ถูกคิดวิเคราะห์มาสำเร็จรูปแล้ว เราสามารถจดจำและนำไปใช้ได้เลยและเป็นการเปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ ๆ ของตัวเอง แต่การเรียงเกมส์โปรโดยไม่ได้สนใจบทวิเคราะห์ของโปร เราก็จะขาดความเข้าใจในความรู้ของหมากล้อมและนำไปประยุกต์ใช้ไม่ได้เลย
เราพอจะมองเห็นแล้วว่า การลงมือฝึกฝนหมากล้อมนั้นด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่อย่างเพียงพอที่จะเก่งขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เพราะมันจะเพียงแค่พัฒนาฝีมืออยู่เพียงด้านเดียว ในการที่ตัวเองจะเก่งขึ้นได้อย่างรวดเร็วนั้น ควรจะต้องประกอบไปด้วย
- การเข้าเรียนกับครูหมากล้อม
- การฟังคอมเม้นท์เกมโปร
- การฝึกทำโจทย์แต่ละประเภท
- เข้าร่วมการแข่งขัน
สูตรสำเร็จนี้ จะต้องรวมเข้าด้วยกัน ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ เพราะมันจะพัฒนาฝีมือไปคนละด้านบนพื้นฐานของการใช้เวลาที่น้อยที่สุด และคุณก็จะพัฒนาฝีมือไปสู่จุดสูง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
โปร ฯ นักหมากล้อมระดับสูงสุดของโลก จะมีความรู้พื้นฐานหมากล้อมเต็มที่ และกำลังการอ่านหมากอย่างชัดเจนรวดเร็วแม่นยำ และเข้าใจในการประยุกต์ใช้ สามารถเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการบนกระดานหมากล้อมให้เกิดขึ้นได้ และสุดท้ายก็มีสภาวะจิตใจที่ “ไร้ตัวตน” อยู่ตรงนั้น ดังเช่น พัดหมากล้อมที่เขียนโดยเนี่ย เว่ย ผิง เขียนว่า “无我” ทั้งหมดนั่นรวมเป็นสภาวะที่ไร้เทียมทานที่ไม่มีใครที่สามารถเอาชนะได้
สนุกมาก